รณรงค์การลดใช้โฟมและถุงพลาสติก

12 มิถุนายน 2566
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

ภาชนะที่ใช้สำหรับใส่อาหาร นอกจากจาน ชาม ยังมีโฟม (Foam) ซึ่งเป็นภาชนะที่ผู้จำหน่ายส่วนมากนิยมนำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุหรือหีบห่ออาหาร ทั้งอาหารสด ผักสด อาหารพร้อมปรุง และอาหารปรุงสำเร็จ ด้วยเหตุผลที่ว่าซื้อหาได้ง่าย สะดวกในการเปิดรับประทานได้เลย แต่รู้หรือไม่ว่าโฟมที่นำมาบรรจุอาหารเหล่านั้น หากเจอความร้อนจัดจะหลอมละลายจนอาจเกิดสารก่อมะเร็ง "สไตรีน" ออกมาปนเปื้อนในอาหาร เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย

        การใช้โฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายมักจะใส่อาหารที่มีความร้อนและไขมัน ซึ่งอาจส่งผลให้สารเคมีจากโฟมออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้ โดยเฉพาะอาหารประเภทกึ่งสำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าไมโครเวฟ เพื่อทำการอุ่นให้ความร้อนแก่อาหารก่อนนำมารับประทาน จึงมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่จะได้รับสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของโฟมเข้าสู่ร่างกาย และหากสะสมในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เนื่องจากการใช้โฟมพลาสติกมาบรรจุอาหารบางชนิดนั้นอาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาปลดปล่อยสารสไตรีน (Styrene) ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์และสัตว์

        คุณสมบัติของสารสไตรีนนั้น เป็นสารที่สามารถละลายได้ในน้ำมันและแอลกอฮอล์หรือแม้แต่อาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนยแข็งที่บรรจุอยู่ในถาดโฟม ประกอบกับการทิ้งอาหารให้สัมผัสกับภาชนะโฟมเป็นเวลานานจะยิ่งมีการปลดปล่อยสารสไตรีนออกมาปนเปื้อนอาหารได้มากขึ้น ซึ่งหากร่างกายรับสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานและการใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ไม่ถูกวิธี ก็อาจส่งผลเสียเป็นอันตรายต่อสุขภาพในอนาคตได้

       ข้อมูลจากฝ่ายเฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าและบริการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ดำเนินการทดสอบพิสูจน์โฟมสำหรับบรรจุอาหาร พบว่า ผู้บริโภคอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีตกค้างจากการปนเปื้อนมากับภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยส่วนใหญ่โฟมจะมีส่วนประกอบสำคัญ 2 ชนิด คือ สไตรีน และเบนซีน ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถแพร่กระจายและละลายปนเปื้อนกับอาหารได้เมื่อได้รับหรือสัมผัสกับอาหารที่มีความร้อนสูง

       ทั้งนี้ แม้ว่าผลการทดสอบที่ได้ส่วนใหญ่จะมีค่าการปนเปื้อนของสารเคมีโลหะหนัก (ตะกั่ว แคดเมียม) และสารตกค้างจากสารที่ระเหยอยู่ในเกณฑ์ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 (พ.ศ.  2548) กำหนดไว้ แต่ค่าที่ได้จากผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนสารละลายของสารเคมีต่าง ๆ หลุดออกมา เมื่อทดสอบในสภาวะที่ใช้กับอาหารที่มีความร้อนสูงจริง โดยค่าที่ได้มีค่าสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของค่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสะสมเรื้อรัง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้ ถ้าร่างกายได้รับสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกวัน อย่างไรก็ตาม สคบ. ได้เตรียมแผนการจัดสัมมนาเกี่ยวกับภาชนะโฟม และทำความร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย ให้มีการลด ละ เลิกการใช้โฟมมาบรรจุใส่อาหาร เพื่อลดอัตราความเสี่ยงอันตรายที่จะส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค

        ดังนั้น สคบ. จึงแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารให้ถูกประเภทหลีกเลี่ยงการนำโฟมมาบรรจุอาหารร้อน ไขมันสูง หรือมีความเป็นกรด และหลีกเลี่ยงการอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ รวมถึงการหันมาใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง กระดาษ กล่องไบโอ ชานอ้อย พลาสติกไบโอ แทนกล่องโฟม ดีกว่าการปล่อยให้ร่างกายถูกทำลายเพราะอันตรายจากสารเคมีทุกวัน

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!