รณรงค์ลดการใช้สารเคมี

5 กันยายน 2561
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าสารกำจัดแมลงเท่ากับ 34,672,000 กิโลกรัม ปริมาณนำเข้าสารกำจัดวัชพืชเท่ากับ 112,176,000 กิโลกรัม ปริมาณนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดเท่ากับ 164,383,000 กิโลกรัม จากการคำนวณค่าเฉลี่ยพบว่าคนไทย 64.1 ล้านคน มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากกว่า 2.6 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ถึงแม้ว่าประเทศไทยได้มีกฎหมายควบคุมการใช้สารเคมีโดยการงดการนำเข้า/ขึ้นทะเบียนสารเคมีบางประเภทแล้ว แต่ยังคงเหลือตกค้างและใช้งานภายในประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก และสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดที่มีพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิต เช่น คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น ซึ่งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ได้ยกเลิกการใช้หรือไม่รับขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีข้อมูลความ ความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ แต่ประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าอยู่ และปริมาณการนำเข้าในแต่ละปีมีแนวโน้มสูงขึ้น

การใช้สารเคมีในการเกษตร เริ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรจากการเกษตรที่พึ่งพาตนเองและธรรมชาติ การผลิตเพื่อบริโภค เป็นการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการค้า การผลิตที่เน้นปริมาณ แต่ขาดการคำนึงถึงคุณภาพและมีความเสี่ยงปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ เช่น สารปรุงแต่ง สารกันเสีย สารฟอกขาว ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มต้นและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อประเทศเดินหน้าเข้าสู่การปฏิวัติเขียว ประมาณ พ.ศ. 2504 ด้วยบางนโยบายของรัฐ และการผลักดันของกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ จึงเกิดการปรับปรุงพันธ์ข้าวที่มีอยู่กว่า 22,000 สายพันธ์ุให้เหลือเพียงประมาณ 10 สายพันธ์ุที่เติบโตได้ดีในปุ๋ยเคมี ตอบสนองต่อยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ การขยายตัวของสังคมเมืองยังเปลี่ยนพื้นที่ที่เดิมเคยปลูกอาหาร/ผักสวนครัว กลายเป็นตึกสูงๆจำนวนมาก สังคมทุนนิยมทำให้อาหารเป็นสินค้า ระบบการผลิตอาหารที่มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการเชิงปริมาณของตลาดและมองผลประกอบการและผลกำไรเป็นหลัก ใช้สารเคมี ใช้พันธุกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มปริมาณของผลผลิต ซึ่งส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน นำ้ ป่าไม้ และยังส่งผลต่อร่างกายของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอีกด้วย

จากการทดสอบการปนเปื้อนของอาหารในตลาดของ Thai-PAN ที่ได้เก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคมากที่สุด 10 ชนิดประกอบไปด้วยคะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะพริกแดงกะเพรา กวางตุ้ง และผักบุ้งจีน โดยเก็บตัวอย่างผักจากโมเดิร์นเทรด ซึ่งประกอบไปด้วยห้างเทสโก บิ๊กซี แมคโคร และผักที่มีตราเครื่องหมาย Q รับรอง และจากตลาดสดจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ตลาดไท ปากคลองตลาด สี่มุมเมือง และตลาดบางใหญ่ ปรากฏว่าพบโดยภาพรวมมีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน (ค่าเอ็มอาร์แอล) ของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 25% จากการตรวจสอบพบว่า ผักที่พบการปนเปื้อนมากที่สุดคือกะเพรา พบว่าสารพิษเกินมาตรฐานถึง 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริกแดงพบค่อนข้างน้อยคือ 12.5% ส่วนผักกาดขาวปลี และกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้างเลย

การบริโภคสินค้าเกษตรที่มีสารเคมี สร้างปัญหาสุขภาพทั้งโรคเฉียบพลัน เช่น อาหารคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง หายใจติดขัด ตาพร่ามัว และโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์อัมพาต โรคผิวหนัง การพิการของเด็กแรกเกิดและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น สถิติเกี่ยวกับการเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่บันทึกไว้ในสถิติเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำของจำนวนผู้ป่วยจริงในแต่ละปี การเก็บข้อมูลส่วนใหญ่มาจากระบบฐานข้อมูลการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเพราะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ในความเป็นจริงมีผู้ป่วยที่ไม่เข้ารับการรักษาในระบบจำนวนมาก และความเชื่อมโยงของการป่วยและสารเคมีอาจไม่ชัดเจนในบางกรณี โดยเฉพาะในโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงอาจอยู่ที่ 200,000 – 400,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าและใช้สารเคมีในประเทศ

​ประเด็นที่น่าสนใจ

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • การส่งต่อโดยผ่านพ่อค้าคนกลางหลายๆ ทอด ทำให้สินค้าเกษตรมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีเพิ่มมากขึ้นด้วย
  • แม้เกษตรกรจะรู้ผลเสีย แต่การเปลี่ยนการเพาะปลูกจากเคมีไปเป็นอินทรีย์นั้น จะทำให้สูญเสียผลผลิตไปถึง 80% จึงทำให้เกษตรกรหลายคนไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้หากรายได้ทิ้งช่วง จึงไม่กล้าปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก
  • วิถีชีวิตคนเมืองที่ต้องเร่งรีบและเน้นสะดวกเป็นหลัก ทำให้คนมีเวลาใส่ใจในรายละเอียดกับการเลือกอาหารที่ดีน้อยลง
  • มาตรฐานการควบคุมสินค้าเกษตรไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้จริง และตรามาตรฐานบางอันก็ยอมรับการใช้สารเคมี
  • สินค้าอินทรีย์หลายๆ กลุ่มไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เพราะแหล่งจำหน่ายต้องการมาตรฐานรับรองซึ่งมีราคาสูงกว่าที่เกษตรกรรายย่อยจะรับไหว
  • ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการผักผลไม้ที่หน้าตาสวยงาม แต่ผักผลไม้อินทรีย์ที่ปลูกตามธรรมชาติแบบไม่ใช้สารเคมีนั้น จะไม่สามารถกำหนดให้มีความสวยงาม มีขนาดใหญ่ หรือมีปริมาณมากๆ ได้ทุกฤดูกาลเหมือนกับพืชผักที่เพาะปลูกด้วยเคมีทั่วไปในตลาด
  • ตลาดสีเขียวหรือตลาดอาหารปลอดภัยยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของปริมาณตลาดทั้งหมด และส่วนมากเป็นรูปแบบของตลาดชั่วคราวหรือตามฤดูกาล
 
ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!